การท่องเที่ยวในประเทศไทย

 
 
 
 
 

 

ภาคใต้ดินแดนดินแดนด้ามขวานทองของไทย  ที่มีชายหาดยาวทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก  ภูมิประเทศที่เรียวเล็กทอดยาวจากเหนือจรด ใต้  ฤดูกาลแห่งสายลมนำพามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลไทยซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามติดอันดับโลก  ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต  สมุย อันเป็นตัวแทนของสองฝากฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

ผืนป่าทางใต้ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุด เหตุเพราะว่าฝนตกแปด  แดดออกอีกสี่เดือนทำให้มีผืนน้ำและสายธารมากมาย  อย่างความงดงามของหมู่เขาหินปูนในอุทยานแห่งชาติเขาสก บริเวณเขื่อนเชี่ยวหลานที่ได้ฉายา กุ้ยหลินเมืองไทย  ส่วนท่านใดที่ชอบหาดทรายขาว  น้ำทะเลใส  ทะเลกระบี่  ตรัง  สตูล อาจทำให้ท่านลืมที่ไหนๆ ในโลกได้ไม่ยากหาดย้อนอดีตอันรุ่งเรืองของเมืองการค้า  ตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีส  ที่เป็นเสมือนประตูทะลุมิติให้เราเห็นถึงความสวยงามของย่านการค้าอันเก่าแก่  อย่างย่านการค้าอันเก่าแก่  อย่างย่านเก่าเมืองภูเก็ต,ย่านการค้าเมืองตะกั่วป่าจังหวัดพังงาเป็นต้น

ถ้าท่านใดชอบและเป็นนักดูนก  เส้นอุทยานนกน้ำทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงเป็นจุดที่ไม่ควรพลาด  หรือว่าถ้าต้องการความตื่นเต้น  พายเรือคายักบนเส้นทางแห่งถ้ำและสายน้ำที่จังหวัดกระบี่หรือไปล่องแก่งวังสายทองที่จังหวัดสตูลก็สนุกไม่หยอก  ใครที่บอกว่าเที่ยวทะเลน่าฝนไม่สนุกขอให้เปลี่ยนความคิดใหม่ได้แล้ว  ภูเก็ตหน้าฝนคือแหล่งเล่นเซิร์ฟบอร์ดที่ดีที่สุดของประเทศไทย  ที่ภูเก็ตท่านจะเห็นลีลา  นักเซิร์ฟได้ที่หาดกะตะ  กะรน  และหาดกะหลิม

ถ้าอยากสัมผัสดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาต้องมาสักการะพระบรมธาตุยอดทอง  ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  จังหวัดนครศรีธรรมราชและบรมธาตุไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นเจดีย์สมัยศรีวิชัย 1 ใน 3 องค์ที่เหลืออยู่ในประเทศไทยยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจใน 12 เส้นทางของภาคใต้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยากให้คุณไปสัมผัสแล้วท่านจะรักภาคใต้อีกขึ้นเป็นกอง

ถ้ำเจ็ดคด

ถ้ำเจ็ดคด ตั้งอยู่ที่ กิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นแหล่งท่องเที่ยวผจญภัยแห่งใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนัก ลักษณะเป็นถ้ำต้องใช้เรือคายักพายลอดถ้ำเข้าไปในความมืดจากด้านหนึ่งไปทะลุยังอีกด้านหนึ่ง ระหว่างทางในถ้ำสายน้ำจะคดเคี้ยวเป็นหัวโค้งถึง 7 โค้ง 7 คต อันเป็นที่มาของชื่อ ถ้ำเจ็ดคด ต้องใช้ไฟฉายหรือสปอร์ตไลท์ นำทาง ภายในถ้ำมีความงามของหินงอกหินย้อยซ่อนอยู่ท่ามกลางความมืด และให้ความรู้สึกผจญภัยยามที่ต้องฟันฝ่าไปให้ทะลุอีกฟากหนึ่งด้วยระยะทางถึง 500  เมตร ปากถ้ำอีกด้านที่ทะลุออก มาจะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ สูงราว 30  เมตร กว้างราว 15 เมตร มีสันทรายกองอยู่ปากถ้ำ ภายนอกถ้ำมีป่าไม้เขียวชอุ่มยามเมื่อเงา สะท้อนลงมาในน้ำสวยงามยิ่งนัก


สวนโมกขพลาราม

อยู่ที่ ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสถานศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งในพุทธศาสนจักร กำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2502โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ภิกษุผู้ประกาศตนขอเป็นทาสแห่งพุทธองค์ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและทดลองปฏิบัติอย่างแน่วแน่จนก่อเกิดปัญญารู้แจ้งในพระธรรมคำสอนกระทั่งแยกแยะได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรและหัวใจของคำสอนคืออะไรท่านพุทธทาสได้ใช้ความรู้ความเข้าใจที่ได้สร้างสรรค์เป็นคำสอนที่เข้าใจง่ายๆถ่ายทอดแก่พุทธศาสนิกชนทั้งยังเผยแพร่เป็นภาษาต่างๆและได้รับการยอมรับกันทั่วโลก

ภายในสวนโมกข์มีการจัดภูมิสถาปัติที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติสถาปัตยกรรม ปฏิมากรรม จิตรกรรมและวรรณกรรมทั้งหมดสอดรับกลมกลืนกับธรรมชาติและแสดงพุทธธรรมที่ลึกซึ้งแต่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ


อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง

จากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมราษฎรในบริเวณพื้นที่บ้านบางมะนาว หมู่ที่ 1 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริให้มีการปรับปรุงด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งต่อมาสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานีได้สนองพระราชดำริดังกล่าว โดยทำการสำรวจพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติพิเศษป่าเขาตันหยง ในพื้นที่นอกเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยาน มีเนื้อที่ประมาณ 720 ไร่ และตั้งชื่อว่า “วนอุทยานอ่าวมะนาว” โดยกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2536 ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้ (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี) ได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดนราธิวาส ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับวนอุทยานอ่าวมะนาวว่า ควรดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานอ่าวมะนาวให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพราะมีพื้นที่โดยรวมประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีหาดทรายขาวสลับด้วยโขดหินที่สวยงามตา ประกอบกับวนอุทยานอ่าวมะนาวมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อกับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งทุกๆ ปีประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมจะมีการเสด็จแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานตามพระราชดำริในท้องที่ภาคใต้ จำเป็นต้องมีสถานที่เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกรมป่าไม้ เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับกิจการด้านการป่าไม้ด้วย ซึ่งส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้สนองนโยบายตามที่อธิบดีมอบหมายดังกล่าว โดยสั่งเจ้าหน้าที่ออกมาทำการสำรวจพื้นที่บริเวณอ่าวมะนาวและบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอเมือง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เพื่อกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ จากผลการสำรวจพบว่าบริเวณพื้นที่อ่าวมะนาวและบริเวณใกล้เคียงมีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ เหมาะสมในการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ต่อมากรมป่าไม้ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานป่าไม้เขตปัตตานีส่งมอบวนอุทยานอ่าวมะนาวแก่ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป และอธิบดีกรมป่าไม้ (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี) ได้ตั้งชื่อให้ใหม่เพื่อเป็นเกียรติว่า “อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง”

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
ทรัพยากรธรรมชาติ

เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน คือ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นหาดทรายติดกับชายทะเลและเนินเขาสูง บริเวณป่าสงวน 20% ของนิคมสหกรณ์บาเจาะ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแห้งแล้ง ในช่วงฤดูแล้งและบริเวณป่าพรุใกล้คลองปิเหล็ง สภาพพื้นที่ก็เป็นป่าพรุแต่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี

จากลักษณะดังกล่าว ทำให้พืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่าของทั้ง 3 แห่ง มีความแตกต่างกัน ซึ่งพอจำแนกได้ดังนี้ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่บริเวณชายหาดถึงที่ลาดชันเล็กน้อยจะพบพันธุ์ไม้ประเภทป่าชายหาด ซึ่งลักษณะเป็นป่าโปร่ง ลำต้นคดงอ เนื่องจากแรงลมหรือบริเวณที่ขึ้นอยู่ เช่น ขึ้นแทรกระหว่างก้อนหินพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ รักทะเล ยอป่า พะวา หูกวาง เลือดม้า มะนาวผี กระเบาลิง จิก พลับพลา มะพลับ มะกอก พลอง สารภีทะเล หยีน้ำ ชะเมา ตีนเป็ดทะเล ปอทะเล ฯลฯ ส่วนบริเวณที่สูงขึ้นไปจะพบพันธุ์ไม้ประเภทป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แอ๊ก ทังใบใหญ่ กันเกรา เตยทะเล ไทร มะคะ ตีนนก กระทุ่มบก เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาตินี้ ดร. เชาวลิตร นิยมธรรม ได้สำรวจพบ ต้นมะนาวผี (Atalantia monophylla) ที่มีขนาดใหญ่และสวยงามมากเท่าที่เคยพบเห็นมา

โดยที่อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว – เขาตันหยง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนพิเศษป่าเขาตันหยง มีสภาพธรรมชาติทีอุดมสมบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติมีอาณาเขตติดต่อกับแนวเขตพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สัตว์ป่าที่อาศัยในบริเวณนี้จะเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติกับเขตพระราชฐานเพื่อหาอาหารและน้ำ สัตว์ที่สำรวจพบได้แก่ กระรอก กระแต พญากระรอก ชะมด ลิ่น เม่น ลิง ค่าง อีเก้ง งูเหลือม งูเห่า งูกะปะ ไก่ป่า เหยี่ยวแดง นกขมิ้น นอกจากนี้จะพบเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทสัตว์กีบ เช่น กวางป่า เก้ง กระจง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปล่อยไว้เพื่อสร้างระบบนิเวศในพิ้นที่ป่าสงวนแห่งชาติพิเศษป่าเขาตันหยง เป็นจำนวนมากอีกด้วย บริเวณพื้นที่ป่าสงวน 20% ของนิคมสหกรณ์บาเจาะ มีสภาพเป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแล้งในช่วงฤดูแล้งพันธุ์ไม้ที่พบเห็นบริเวณนี้ จำแนกได้ 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่เป็นป่าพรุค่อนข้างสมบูรณ์ มีไม้ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมหนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระบุย ตีนเป็ดพรุ ช้างไห้ กระดุมผี อ้ายบ่าว กะทัง ทองบึ้ง หว้า เสม็ดแดง ชะเมา สาคู หลาวชะโอน สะเตียว หมากเขียว หมากแดง และ

2.บริเวณที่เป็นป่าเสม็ดซึ่งมีไม้เสม็ดขาวชนิดเดียวเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 80% ของเนื้อที่ทั้งหมด เท่าที่พบเห็นและสอบถามชาวบ้านในท้องที่ พบว่าเป็นแหล่งทีอยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ หมูป่า ชะมด ลิงกัง เสือปลา กระรอก กระแต อีเห็น เต่า ตะพาบน้ำ ตะกวด กบ เขียด ปลาดุก ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาลำพัน นกเอี้ยง นกขุนทอง นกกระปูด นกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน งูเห่า งูจงอาง งูเขียว เป็นต้น บริเวณป่าพรุใกล้คลองปิเหล็ง มีสภาพเป็นป่าพรุที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปี เป็นป่าพรุที่มีความหนาแน่นพอสมควร พันธุ์ไม้ส่วนสำคัญได้แก่ ไม้เสม็ดขาว และจากการสอบถามชาวบ้านท้องที่ สัตว์ที่พบได้แก่ เต่า ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาลำพัน ลิง ลิ่น นาก ตะกวด อีเห็น เป็นต้น


มัสยิดกลางปัตตานี

 มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เลขทะเบียนที่ 249 มีประวัติและความเป็นมาดังนี้ ในปีพุทธศักราช 2497 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัดอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประกอบกับในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เป็นจำนวนมาก สมควรสร้างมัสยิดกลางที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ของชาวไทยมุสลิม จึงได้พิจารณาพื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 55  ตารางวา คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้างมัสยิดกลางปัตตานีขึ้น โดย ฯพณฯ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2500 เวลา10.00น.
มัสยิดกลางแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารเป็นเวลา 9 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เดินทางมาประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมอบมัสยิดแห่งนี้ให้แก่ชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี โดยให้ตั้งชื่อว่า “มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี”

 มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีสร้างเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น รูปทรงคล้ายกับ “ทัชมาฮาล” ประเทศอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่า บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้าง ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบเป็นที่สำหรับ “คอฏีบ” ยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์ หอคอยสองข้างนี้เดิมใช้เป็นหอกลางสำหรับตีกลอง เป็นสัญญาณเรียกให้มุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาใช้เป็นที่ติดตั้งลำโพง เครื่องขยายเสียงแทนเสียงกลอง ปัจจุบันขยายด้านข้างออกไปทั้ง 2 ข้าง และสร้างหอบัง (อะซาน) พร้อมขยายสระน้ำและที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม


บ่อน้ำร้อน-สวนสาธารณะรักษะวาริน

บ่อน้ำร้อน-สวนสาธารณะรักษะวาริน อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4005  ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออก 2 กิโลเมตร ในปี พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองระนอง ได้พระราชทานชื่อถนนที่จะไปยังบ่อน้ำร้อนว่า “ถนนชลระอุ” บ่อน้ำร้อนซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้มีอยู่ 3 บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่และบ่อลูก ทั้ง 3 บ่อมีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส สามารถใช้ดื่มและอาบได้ มีประโยชน์ต่อร่างกายในแง่การบำบัดรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ยังถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ จึงเป็นแหล่งหนึ่งที่นำไปผ่านพิธีพุทธาภิเษก  ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในคราวพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นบริเวณใกล้ ๆ บ่อน้ำร้อนได้จัดเป็นสวนสาธารณะ “รักษะวาริน” มีศาลาที่พักและห้องอาบน้ำร้อนไว้บริการและบริการแช่น้ำร้อนนวดสปาด้วยน้ำแร่ร้อนธรรมชาติของสยามฮอทสปา มีบริการห้องแช่ตัว ห้องอบไอน้ำ และห้องซาวน์น่า รวมทั้งบริการนวดตัว และห้องออกกำลังกาย


ทะเลสาบสงขลา


เป็นทะเลสาบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ในจังหวัดพัทลุงยังมีหาดแสนสุข บริเวณปากคลองลำปำ เป็นหาดที่มีบรรยากาศร่มรื่นอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ทะเลสาบสงขลามีความยาวจากปากทะเลสาบ (อำเภอเมืองสงขลา) ไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนกว้างไม่แน่นอนบางตอนแคบ บางตอนกว้างมาก ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 20-25 กิโลเมตร ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบน้ำกร่อยจะกร่อยมากในช่วงที่ติดกับทะเลอ่าวไทยตรงปากทะเลสาบ ในทะเลสาบสงขลามีเกาะอยู่-หลายเกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะหมาก (ตำบลเกาะหมาก) เกาะนางคำ (ตำบลเกาะนางคำ) และเกาะยอ (ตำบลเกาะยอ) นักท่องเที่ยวสามารถหาเรือท่องเที่ยวในทะเลสาบได้ บริเวณท่าเรืออยู่หลังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข หรือบริเวณตลาดสดจะมีเรือหางยาวรับส่งตลอดวัน

ShareThis

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

 

ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของ ภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
ตามตำนานกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว โดยนางเหมชาลาฒ และพระธนกุมาร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๘๓๔ จึงได้สร้างพระบรมธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช จะก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อสร้างสมความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเช่น สมัยศรีวิชัยได้สร้างเป็นเจดีย์ทรงศรีวิชัย ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๐ ได้ทรงสร้างเป็นเจดีย์ทรงลังกาครอบองค์เจดีย์เดิมแบบศรีวิชัยไว้ภายใน

พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครศรีธรรมราช และชาวใต้ทั้งปวง ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอนเกี่ยวกับประวัติการสร้างตามตำนานกล่าวว่า พระเจดีย์องค์เดิมสร้างตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๐๐ สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ต่อมาเมื่อได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับพระภิกษุลังกา โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้นิมนต์พระภิกษุลังกามาตั้งคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในระยะนั้นพระบรมธาตุองค์เดิมชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุลังกาจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกา โดยสร้างพระสถูปแบบลังกาครอบองค์พระเจดีย์เดิม เป็นพระสถูปทรงโอคว่ำปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีพระบรมธาตุจำลองประดิษฐานอยู่ทั้งสี่มุม

พระพุทธสิหิงค์  เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครศรีธรรมราช ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๓ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเรือไปตีเมืองลังกาครั้งที่ ๑ ได้พระพุทธสิหิงค์มา จึงได้ฉลองสมโภชรวมกับพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๓ โดยมีนางพญาเลือดขาวนำเสด็จแทนพระเจ้าจันทรภาณุจากลังกา

พระพุทธสิหิงค์  มีลักษณะทางศิลปกรรมอยู่ในตระกูลช่างแบบนครศรีธรรมราชที่เรียกกันว่า แบบขนมต้ม ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ ในบริเวณวังเจ้านครเก่า ปัจจุบันเป็นศาลากลางจังหวัด เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะบูชาในเวลาราชการทุกวัน
ในวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ไปยังสนามหน้าเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี

ShareThis

สระมรกต

สระมรกต 
สระมรกต สระน้ำสวยใสกลางใจป่า กำเนิดมาจากธารน้ำอุ่นในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้แหล่งสุดท้ายที่พบ นกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งเคยสูญพันธ์ไปนานเกือบ 100 ปี ใครจะรู้บ้างไหมว่า ใจกลางป่าผืนนี้มีทั้งสระน้ำสวยใส และนกหายากอยู่รวมกัน

ป่าเขานอจู้จี้
ป่าดินที่ราบต่ำผืนสุดท้ายของเมืองไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ มีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ แบ่งเป็นป่าดงดิบชื้น และบางส่วนที่เป็นป่าพรุที่มี น้ำท่วมขังทั้งปี สามารถท่องเที่ยวได้สะดวกด้วยการเดินตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
ดูพรรณไม้ที่น่าสนใจ เช่น ต้นเตียว ต้นชิง ฯลฯ นอกจากนั้น ที่นี่ยังเป็นแหล่งดูนก ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีนกกว่า 300 ชนิด มีนกที่หายากและสูญพันธุ์ จากโลกนี้ไปแล้วเกือบ 100 ปี ซึ่งกลับมาค้นพบที่นี่คือ นกแต้วแร้วท้องดำ
และเป็นแหล่งที่มีสระน้ำสวยใสหลายแห่ง อันเกิดมาจากธารน้ำอุ่น ที่สำคัญคือ สระมรกต ที่มีน้ำใสเป็นสีเขียวอมฟ้า เปลี่ยนสีไปได้ตามวันเวลา และสภาพแสง

วันเวลาที่แนะนำ
สระมรกต สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีแต่สภาพที่ดีซึ่งจะเห็นสระเป็นสีเขียวมรกตสดใส
มักจะเป็นช่วงเวลาเช้า และเย็น โดยเฉพาะในวันฤดูร้อนที่ท้องฟ้าสดใสปราศจากเมฆฝน

การเดินทาง
จากจังหวัดกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 สู่อำเภอคลองท่อม แยกซ้ายมือทางหลวง
หมายเลข 4038 มุ่งหน้าอำเภอลำทับ ระหว่างทางมีทางแยกขวามือเป็นทางย่อยแยก
เข้าสู่น้ำตกร้อน และสระมรกตที่มีป้ายบอกทางชัดเจน

ShareThis

อ่าวพังงา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยในท้องที่ ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา และ ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้
-ทิศเหนือ จดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่ อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
-ทิศใต้ จดทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเล จังหวัดภูเก็ต
-ทิศตะวันออก จดเขตท้องที่จังหวัดกระบี่
-ทิศตะวันตก จดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเล ท้องที่ อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา


 

ลักษณะภูมิประเทศ
-ลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่ง ตะวันตก เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิต ที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา-ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 136-36 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนพังงา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหิน (รอยคดโค้ง-รอยเลื่อน) ของหินแกรนิต นำเอาแร่ธาตุที่มีค่ามาสะสมตกผลึก เช่น แร่ดีบุก ตะกั่ว วุลแฟรม เหล็ก พลวง แมงกานีส แบไรต์ ฟลูออไรต์ และทองคำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนซึ่งแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภูเขาหินปูนที่เป็นแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนหรือภูเขาหินปูนลูกโดด และยังปรากฏว่ามี ซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) อีกการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรงหรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด กระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นท้องทะเล พื้นทะเลเป็นดินเลน โคลน และทราย เป็นส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูน โผล่อยู่กลางน้ำ กระจายทั่วบริเวณอ่าวพังงา มีลักษณะสวยงาม โดดเด่น รูปร่างแปลกๆ มากมาย ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีความ สวยงามเฉพาะตัว

ลักษณะภูมิอากาศ
-เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเปิด จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทะเลมีคลื่นลมจัด ฝั่งทะเลช่วงใดที่ไม่มีเกาะกำบังจึงกลายเป็นฝั่งซึ่งมีหาดทรายชันและน้ำลึกในระยะใกล้ฝั่ง ส่วนฝั่งทะเลช่วงที่มีเกาะกำบังลมด้านนอก หรือฝั่งตอนที่เป็นอ่าวเว้าไม่รับลมมรสุมเต็มที่ จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่พื้นดินอ่อนเป็นโคลนเลน มีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่นตามขอบฝั่งและเลยลึกเข้าไปในฝั่งที่น้ำเค็มเข้าไปถึง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดบริเวณอ่าวพังงา จังหวัดพังงา นี้เอง
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
-ป่าชายเลน ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูนพบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนมากถึง 12 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบ ต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือที่ค่อนข้างเป็นดินเลนเป็นจำนวนมาก และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเล พบน้อยมากบริเวณที่โล่ง หรือบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น
-ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเซลล์และควอทไซท์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ พบ 7 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้พื้นล่างอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เหงือกปลาหมอ ซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น
-ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่อง จากบริเวณนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมี 5 ชนิดได้แก่โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่ง น้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ
-ป่าบก ป่าบกที่พบเป็นป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดิบชื้น จำแนกได้ดังนี้
-ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป มี 2 ประเภท ได้แก่ ป่าที่ ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างราบ และบริเวณทีเรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน และชุมเห็ด สำหรับไม้พื้นล่าง จะขึ้นอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต่าร้าง เคย ลำเพ็ง นอกจากนี้ยังมี พวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่างๆ อีกประเภทได้แก่ ป่าที่ขึ้นอยู่บนที่สูงค่อนข้างชื้น ของเขาหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็ก ค่อนข้างเตี้ย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน เขากวาง เป็นต้น
-ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่เขาหินเชลล์ ควอทไซท์ พันธุ์ไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใน บริเวณที่ลุ่มตามเชิงเขาที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจะพบไม้ยางนา ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และพบพันธุ์ไม้อื่นที่สำคัญได้แก่ มังตาล พังกา เฉียงพร้านางแอ เป็นต้น สำหรับไม้ พื้นล่างพบพวก ไผ่ป่า พังแหร หญ้า ฯลฯ
-ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนหินทราย พบบนพื้นที่ค่อนข้างลาดมีไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ไม่ค่อยสูง นัก ไม้พื้นล่างไม่หนาแน่น อาจเป็นเพราะขาดความ อุดมสมบูรณ์ของดิน พันธุ์ไม้ที่ สำคัญได้แก่ สตอตั๊กแตน พังกา แค เป็นต้น สำหรับไม้พื้นล่างปรากฏอยู่น้อยมากส่วน ใหญ่เป็นจำพวกหญ้า
-เมื่อปีงบประมาณ 2517 จังหวัดพังงาได้เสนอพื้นที่บริเวณถ้ำลอด เกาะปันหยี และเขาพิงกัน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน โดยใช้ชื่อว่า ” วนอุทยานศรีพังงา ” แต่ต่อมากรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณอ่าวพังงาเพื่มเติม และดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 3 เล่มที่ 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ภายใต้ชื่อว่า ” อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ” มีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่ง จนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และพื้นน้ำในท้องทะเลอันดามันมีพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาทั้งหมด ซึ่งในร้อยละ 80 ของพื้นที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เขาเต่า เกาะพระอาดเฒ่า เกาะมะพร้าว เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เขาพิงกัน ฯลฯ

ShareThis

No Comments

จุดชมวิว 3 อ่าว บริเวณนี้จะเป็นลักษณะเนินเขาสูง โดยมีการจัดสร้างศาลาสามารถขึ้นไปชมวิวได้ ซึ่งบริเวณนี้สามารถมองเห็น วิวได้เกือบทั่วบริเวณ สามารถมองเห็นอ่าวได้ถึง 3 อ่าว โดยอ่าวที่อยู่ใกล้ที่สุด คือหาดกะตะน้อย เลยออกไปเป็นอ่าวกะตะ และที่อยู่นอกสุด เป็นหาดกะรน ซึ่งลักษณะจะเป็นแบบโค้งแบบเสี้ยวพระจันทร์ติดต่อกัน 3 อ่าว และ ณ จุดชมวิวนี้ ยังสามารถมองเห็นเกาะปู ซึ้งเป็นเกาะ ที่อยู่ใกล้กับสามอ่าวนี้อีกด้วย เป็นสถานที่มีชื่อเสียงทั้งไทยและต่างชาติ และเป็นที่นิยมสำหรับถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ละลึกอีกด้วย

Advertising Zone    Close
 
 
 
 
 
 
Online:  1
Visits:  4,216
Today:  8
PageView/Month:  16

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com